เวลาที่โกรธ..นึกถึงนิทานเรื่องนี้

เคยโกรธใครกันบ้างหรือเปล่าคะ ทุกคนคงจะเคยมีกันบ้าง โกรธแล้วอาจจะแสดงออกหรือไม่แสดงออก บางทีควบคุมอารมณ์ไม่อยู่แสดงออกมาแรงๆ ต่อคนรอบข้างหรือต่อคนที่เราโกรธ ซึ่งการกระทำด้วยอารมณ์เหล่านี้มันไม่ส่งผลอะไรที่ดีเลย เราก็เคยโกรธเพื่อนคนนึงด้วยเรื่องไร้สาระมากมาก และ ไปพูดประชดเค้าด้วยอารมณ์ จนถึงวันนี้เรายังเสียใจอยู่เลย แต่เราก็ขอโทษเค้าไปแล้ว แต่เหมือนกับมันไม่เหมือนเดิม….. ดังนั้นก่อนจะระเบิดใส่ใครให้หวนกลับมาคิดตรึกตรองดีดีก่อน ทำใจให้เย็นลง และเราก็จะสามารถระงับการระเบิดอารมณ์ร้ายๆ นั้นไว้ได้ วันนี้ได้หยิบเอาหนังสือ คลีโอฉบับเดือนธันวาคม 2549 มาอ่าน ในคอลัมภ์ “อะไรๆ ก็โมโห…คือคุณหรือเปล่า?” และเค้าก็ได้เล่านิทานไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งทางคลีโอก็ได้ระบุไว้ว่าได้มาจาก ฟอร์เวิร์ดเมลล์ เราอ่านแล้วเห็นว่าเตือนใจได้ดี เลยขอเอามาลงให้ได้อ่านกันค่ะ

มีพ่อกับลูกชายคู่หนึ่ง ลูกชายเป็นคนขี้โมโห เจ้าอารมณ์ ถ้าโกรธใครเข้าก็จะด่าว่าคนคนนั้นอย่างเต็มที่ ทั้งเพื่อน พ่อแม่และพี่น้อง จนใครๆ ก็เบื่อไม่อยากคบด้วย วันหนึ่งคนเป็นพ่อก็บอกให้ลูกชาย ลองทำสิ่งหนึ่งคือ เมื่อไรที่รู้สึกโกรธใคร แล้วก็ด่าหรือใส่อารมณ์กับคนคนนั้นไป ให้ไปตอกตะปูที่รั้วสังกะสีข้างบ้านไว้ ให้ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่โกรธ

เวลาผ่านไป 1 อาทิตย์…พ่อถามว่า มีตะปูกี่ตัวแล้ว “24 ตัวครับ” ลูกตอบ… “เอาหละ ต่อไปนี้ลองทำใจให้เย็นลง ข่มใจให้มากขึ้น และถ้าลูกระงับความโกรธได้ครั้งหนึ่ง ก็ให้ไปถอนตะปูออกจากรั้วตัวหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆ นะ”

ผ่านไป 2 อาทิตย์ ลูกชายกลับมาหาพ่อด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม บอกพ่อด้วยความภาคภูมิว่า “ผมทำได้แล้วครับพ่อ ผมถอนตะปูออกได้หมดแล้ว ผมใจเย็นขึ้นแล้วครับ”

“ดีมากลูก”.. พ่อชมแล้วพาลูกเดินไปที่รั้ว ตรงที่ลูกชายเคยตอกตะปูทุกครั้งที่โกรธ..ก่อนจะถามว่า “ลูกเห็นอะไรไหม?” “ก็รอยตะปูไงพ่อ” ลูกตอบ…”ใช่ลูก..รอยตะปูก็เหมือนความรู้สึกในใจคนนั้นล่ะ เวลาเราโกรธ เราตะคอกใส่คนอื่น ด่าว่าคนอื่น มันก็เจ็บ เหมือนกับเราตอกตะปูลงไปในใจเขา เราอาจจะถอนคำพูดด้วยคำว่าขอโทษได้ แต่ความรู้สึกที่เสียไปมันก็เหมือนรอยตะปูนั่นล่ะ ถึงเราจะถอนตะปูออกมาแล้ว แต่มันก็ยังทิ้งรอยไว้เสมอ” …ทางที่ดีที่สุด เราพยายามอย่าตอกตะปูลงไปในใจใครจะดีกว่า! พ่อบอก

เราขอยืมคำที่ทางคลีโอได้บอกไว้ว่า “เผื่อทุกครั้งที่โกรธ เตรียมจะใส่อารมณ์กับใคร บอกตัวเองไว้ว่า…อย่าฝังตะปูไว้ที่ใครอีกเลย”

This entry was posted in Philosophy. Bookmark the permalink.